ประวัติ ของ เจเคเอ็น 18

เจเคเอ็น 18 เริ่มทดลองออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554 โดยใช้ชื่อว่า เดลินิวส์ ทีวี (อังกฤษ: Daily News TV)[1] โดยมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555[2] แต่เนื่องจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ภายในประเทศ ซึ่งบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตช่วงหน้าอาคารที่ทำการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเดลินิวส์ ทีวี ในขณะนั้น ก็เป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยดังกล่าวด้วยเช่นกัน จึงส่งผลกระทบให้เดลินิวส์ทีวีต้องเลื่อนการออกอากาศปฐมฤกษ์มาเป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555[3]

หลังจากเข้าประมูลช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทธุรกิจระดับชาติจาก กสทช. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสต์ จำกัด ได้ช่องหมายเลข 18 จึงเปลี่ยนชื่อช่องเป็น นิวทีวี (อังกฤษ: new)tv) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป[4]

ในระยะแรก นิวทีวีออกอากาศรายการสารคดีตลอดทั้งวันสลับกับข่าวต้นชั่วโมง ต่อมาในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล ฝ่ายข่าวกีฬาเดลินิวส์ได้จัดรายการพิเศษเพื่อรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของฟุตบอลโลก โดยช่วงนั้นนิวทีวียังไม่มีการออกอากาศรายการข่าว นอกเหนือจากรายการสารคดีสลับกับข่าวต้นชั่วโมงซึ่งออกอากาศอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกลางปีเดียวกัน นิวทีวีจึงกลับมาออกอากาศรายการข่าวเต็มรูปแบบอีกครั้ง

ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559 นิวทีวีได้ย้ายที่ตั้งของสถานีจากอาคารที่ทำการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ไปยังอาคารแห่งใหม่ที่เลขที่ 818 ซอยแบริ่ง 19 หมู่ที่ 2 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 10270 โดยได้เปิดการใช้งานการเชื่อมต่อระบบออกอากาศอย่างเป็นทางการในเวลา 00:01 น. ของวันดังกล่าว[5]

และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 นิวทีวีได้ปรับโฉมสถานีใหม่ทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อช่องเป็น นิว 18[6] ซึ่งได้มีการเปิดตัวชื่อนี้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560 และในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการปรับโครงสร้างของบริษัทและนโยบายของช่องใหม่ เพื่อเน้นการออกอากาศสารคดี โดยเฉพาะสารคดีชุดสำรวจโลกของบริษัท เนกซ์สเตป จำกัด โดยยังมีรายการข่าวเป็นองค์ประกอบเสริม จึงมีการปลดพนักงานฝ่ายข่าวออกบางส่วน[7]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 ได้มีการออกอากาศรายการข่าวจากช่องฟ้าวันใหม่คู่ขนานไปด้วย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม และได้นำรายการสารคดีออกไปเกือบทั้งหมด[8] แต่ออกอากาศได้เพียง 5 เดือน นิว 18 ก็กลับมาออกอากาศสารคดีตามปกติ

ในวันที่ 1 มิถุนายน ปีเดียวกัน นิว 18 ได้ย้ายโครงข่ายโทรทัศน์จาก MUX#5 ของกองทัพบก ไปยัง MUX#4 ของไทยพีบีเอส[9]

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนเดียวกัน มีข่าวว่า สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม และกลุ่มผู้ประกาศข่าวที่ลาออกจากเนชั่นทีวีในช่วงเดียวกันที่มีอุดมการณ์สุดโต่ง และมักนำเสนอข่าวสารเพื่อด้อยค่าและทำลายฝ่ายตรงข้าม จะเข้ามาจัดรายการทางช่องนิว 18 และเริ่มงานในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563[10] แต่สุดท้ายผังรายการในเดือนธันวาคมของนิว 18 ก็ยังคงเป็นรูปแบบเดิม[11] ต่อมากนกชี้แจงว่าวันดังกล่าวกลุ่มของตนยังไม่ได้เริ่มงาน[12] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 ธันวาคม ก็มีข่าวอีกว่า ผู้บริหารของดีเอ็น บรอดคาสต์ ได้เจรจาขายใบอนุญาตของช่องนิว 18 ให้กลุ่มของสนธิญาณไปบริหารต่อ โดยมีชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ เป็นคนกลางในการเจรจา โดยสนธิญาณได้สั่งซื้อโฆษณาระยะยาวจากบริษัท 6-7 บริษัท ซึ่งจะทำรายได้ให้สถานีรวมกว่า 800 ล้านบาท และเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภค แม้การบุคลากรกลุ่มสุดโต่งมาร่วมงานกับนิว 18 อาจจะนำมาซึ่งการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคเพื่อให้ผู้สนับสนุนโฆษณาเหล่านี้เลิกให้การสนับสนุน เป็นการตัดรายได้ของช่องในทางหนึ่ง (ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับช่องเนชั่นทีวีในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ปีเดียวกัน)[13] แต่ต่อมา เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการบริหารข่าวของนิว 18 ได้ปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว และในวันที่ 21 ธันวาคม ที่ข่าวระบุว่ากลุ่มสนธิญาณจะเข้าไปบริหารนั้น ยังคงเป็นผังรายการเดิม และกราฟิกโปรโมทไม่ได้จัดทำขึ้นโดยทีมของนิว 18[14] ก่อนที่ต่อมา อัญชะลี ไพรีรัก หนึ่งในผู้ประกาศข่าวในกลุ่มของสนธิญาณจะปฏิเสธข่าวดังกล่าวอีกครั้ง และเลื่อนการเปิดตัวทีมข่าวของตนออกไป[15] ปัจจุบันกลุ่มนี้ได้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์เพื่อทำรายการข่าวออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและสื่อสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และไม่สามารถตกลงในรายละเอียดกับนิว 18 ได้[16]

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ทำให้นิว 18 มีรายได้ลดลงอย่างมากเนื่องจากมีการดำเนินกิจกรรมของผู้บริโภคจนมีผู้สนับสนุนถอนตัวออกจากนิว 18 ไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ในนิว 18 ต้องปรับผังรายการใหม่เพื่อสร้างรายได้[17] โดยทำสัญญาควบคุมการออกอากาศกับเจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ของจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (รวมถึงออกอากาศคู่ขนานบางรายการจากเจเคเอ็นทีวี) เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 00:01 น. ส่วนรายการประจำที่มีอยู่เดิมจะย้ายไปออกอากาศในช่องทางออนไลน์ทั้งหมด[16] โดยฝั่งเจเคเอ็นได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าข้อตกลงนี้ให้เจเคเอ็น นิวส์ เช่าเวลาไม่เกิน 40% เพื่อออกอากาศรายการข่าว และที่เหลือเป็นการร่วมผลิตรายการ โดยกระบวนการเป็นไปตามกฎระเบียบของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทุกประการ[18] เนื่องจากในช่วงแรกของการเข้าควบคุมการออกอากาศของเจเคเอ็น กสทช. ได้ให้เจ้าพนักงานร้องขอข้อมูลไปยังนิว 18 เพื่อตรวจสอบข่าวเรื่องการให้เช่าเวลาออกอากาศทั้งสถานี ซึ่งผิดกฎ กสทช.[19]

ทั้งนี้ จากการที่นิว 18 ให้เจเคเอ็นเข้ามาควบคุมการออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเหตุให้สารคดีชุดสำรวจโลกซึ่งเป็นเหมือนจุดเด่นของช่องถูกถอดออกจากผังทั้งหมด ทำให้ความนิยมของช่องลดลงไปอยู่อันดับสุดท้ายของทีวีดิจิทัลในที่สุด[20]

ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน จักรพงษ์ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เจเคเอ็นได้เข้าซื้อกิจการและหุ้นสามัญจดทะเบียนของดีเอ็น บรอดคาสต์ ผู้รับใบอนุญาตของช่องนิว 18 รวมถึงอาคารสำนักงานของช่องและอุปกรณ์การออกอากาศทั้งหมด จากกลุ่มผู้บริหารของเดลินิวส์ คิดเป็นมูลค่า 1,060,000,000 บาท[21] และจ่ายอีก 150,000,000 บาท ให้แก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งส่วนนี้จ่ายเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม[22] รวมทั้งสิ้น 1,210,000,000 บาท โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 เมษายน ทำให้ดีเอ็น บรอดคาสต์ กลายเป็นบริษัทย่อยของเจเคเอ็น และเจเคเอ็นมีสิทธิ์ในการบริหารผังรายการของช่องนิว 18 ได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจการพาณิชย์ และสร้างรายได้ให้เจเคเอ็นมากขึ้น[21] โดยจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทผู้รับใบอนุญาต และจะมีการเปลี่ยนชื่อสถานีเป็น เจเคเอ็น 18 (อังกฤษ: JKN18) โดยไม่มีการปลดพนักงานเดิมออก โดยแอนได้ถ่ายทอดสดแถลงผ่านทางเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อช่วงค่ำของวันเดียวกัน[23] และในวันที่ 19 เมษายน เจเคเอ็นได้ประกาศแผนการตลาดของตนในรูปแบบใหม่เป็น "Content Commerce Company" โดยดึงเนื้อหาที่ตรงกับกลุ่มผู้บริโภคมาต่อยอดสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ และใช้ช่องเจเคเอ็น 18 เป็นช่องทางสนับสนุนเพิ่มเติม[24] รวมถึงจะมีการปรับปรุงต่อเติมอาคารสำนักงานของเจเคเอ็น 18 ที่ซอยแบริ่ง 19 และตั้งชื่อใหม่ว่า "เจเคเอ็น เอ็มไพร์" ทั้งนี้ ทีมงานฝ่ายข่าวซึ่งอยู่ภายใต้ เจเคเอ็น นิวส์ ได้ย้ายไปทำงานที่เจเคเอ็น เอ็มไพร์ ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน ส่วนอาคารหลังเดิมที่ศาลายาจะยังใช้ถ่ายทำรายการบางส่วน จากนั้นเจเคเอ็นทีวีได้ยุติการออกอากาศในวันที่ 30 เมษายน[25] และรายการในผังใหม่ของเจเคเอ็น 18 ออกอากาศเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม[26] และเริ่มเปลี่ยนมาใช้ Interlude ของเจเคเอ็น 18 ตั้งแต่ 00:01 น. ของวันเดียวกัน[27] ซึ่งจะมี Interlude อยู่ 3 รูปแบบ[28][29][30] และต่อมาในวันที่ 26 พฤษภาคม ได้เปลี่ยนชื่อสถานีเป็น เจเคเอ็น 18 อย่างเป็นทางการ โดยการเปลี่ยนโลโก้ทางมุมบนขวาของจอโทรทัศน์ตั้งแต่เวลา 00:01 น.[31][32][33]

ใกล้เคียง